ระบบวนเกษตร หรือไร่นาป่าผสม

Author:

ระบบ วนเกษตร หรือ Agro-Forestry เป็นศาสตร์ของการจัดการทรัพยากรในพื้นที่เพาะปลูก (Land resouce managemeng) อย่างเป็นระบบ โดยผสมผสาน การทำป่าไม้ (Forestry) การเพาะปลูกพืช (Agriculture) การทำปศุสัตว์ และการประมงเลี้ยงสัตว์น้ำ Animal husbandry and Aquaculture & Fisheries ซึ่งมันก็คือการทำการเกษตรโดยรวมหลากหลายชนิดของพืชและสัตว์มาไว้ในผืนดินเดียวกัน อย่างเหมาะสมและมีความสมดุล เพื่อให้ระบบมีความคล้ายคลึงกับระบบนิเวศน์ป่าทางธรรมชาติ ที่ซับซ้อนและมีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยที่ผลผลิตจากพืชและสัตว์ที่เกิดขึ้น จะเป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรในดินและในธรรมชาติบริเวณนั้นอีกต่อหนึ่ง เกิดผลผลิตหลากหลาย หมุนเวียนธาตุอาหารให้สมดุลและมีเสถียรภาพและความยั่งยืนระยะยาว

โดยสรุป การทำเกษตรแบบวนเกษตรช่วยเพิ่มความสามารถของผืนดินในการซึมซับน้ำ การรักษาน้ำใต้ดิน และลดการสูญเสียหน้าดิน

ระบบวนเกษตร หรือไร่นาป่าผสม เป็นศาสตร์ของการจัดการทรัพยากรในพื้นที่เพาะปลูก
ปลูกไม้ใหญ่ควบคู่กับการทำไร่ | เครดิตภาพ : tunza.eco-generation.org

วนเกษตร หรือ Agro-Forestry

วนเกษตร หรือที่ถ้าเรียกให้เข้าใจชัดขึ้นว่า ระบบไร่นาป่าผสม มีความหมายตรงตัวคือ การทำเกษตรกรรม ทำไร่ทำนาหรือปลูกพืชไร่ (หรือไม้ชั้นล่าง) ควบคู่ไปกับการปลูกไม้ยืนต้นหนาแน่น จนดูคล้ายนิเวศน์ธรรมชาติของป่า ไม่ว่าจะเป็นปลูกไม้ผลหรือไม้ใช้สอย (โดยปลูกไม้ช้ันบนนี้ในหลายชั้นความสูง ลดหลั่นกันไป) โดยมีการผสมผสานกับการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร หรือไม้พุ่มเตี้ย


ระดับชั้นของต้นไม้ที่ปลูก

โดยไม้ชั้นบนที่ใช้ควรมีกิ่งก้านแผ่ขยายออกเป็นวงกว้าง สามารถให้เป็นที่กำบัง ลดความรุนแรงของเม็ดฝนที่ตกกระทบผืนดิน ช่วยบังพายุ ฝน รวมทั้งควบคุมสภาพความชุ่มชื้นและอุณหภูมิ ขณะที่ ไม้ชั้นล่าง ที่มีการปลูกแบบเป็นแปลงหมุนเวียน ให้ทั้งผลผลิตระยะสั้นแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ไม้ชั้นล่างที่เลือกปลูกภายใต้ร่มเงาไม้ปกคลุม ควรเป็นพืชที่ไม่ต้องการแสงแดดมาก และสามารถรับประโยชน์จากความชื้นสูงจากการที่มีไม้ผล ไม้ยืนต้น (ไม้ชั้นบน) คอยเป็นกำบังแสงแดดรุนแรงให้

โดยเราแบ่งไม้ชั้นบนที่จะปลูกในแต่ละชั้นความสูง ตามระดับของแสงแดดที่ไม้แต่ละชนิดต้องการ เพื่อสามารถกำหนดตำแหน่งที่เหมาะสม  

  • พืชที่ต้องการแสงมาก พวกไม้ยืนต้น หรือไม้ใช้สอย เช่น สัก ประดู่ ยางนา หรือ ไม้ผล พวก หมาก มะพร้าว
  • พืชที่ต้องการแสงปานกลาง พวกไม้ผล เช่น มะม่วง มังคุด ทุเรียน ขนุน

ในกรณีที่ผืนดินมีขนาดกลางถึงใหญ่ การเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ การเลี้ยงเป็ดไก่ เลี้ยงปลาในนาข้าว หรือขุดบ่อปลา จะกระทั่งเลี้ยงหู หรือวัวควายในพื้นที่ กรณีที่พื้นที่เพียงพอ จะยิ่งช่วยพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และเพิ่มศักยภาพของดินและประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิต แถมยังสร้างความมั่นคงในเชิงเศรษฐกิจ จากการมีผลิตผลหลากหลาย ตอบโจทย์ทั้งการใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่เอง หรือการจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้

จากนิยามข้างต้น เราจะห็นได้ว่าปัจจัยสำคัญอันดับแรกของ วนเกษตร ก็คือการมีไม้ยืนต้นปลูก “หนาแน่น” ให้เพียงพอกับความเป็น ‘ป่า” ธรรมชาติ เพื่อสร้างนิเวศน์ป่าในพื้นที่การเกษตร

ปัจจัยบวกของการมีไม้ยืนต้นในแปลงวนเกษตร

ระบบวนเกษตร หรือไร่นาป่าผสม
  1. ไม้ยืนต้น ไม่ว่าจะเป็นไม้ผลหรือไม่ใช้สอย เป็นตัวเพิ่มรายได้ให้กับเกษตกร ในระยะยาว
  2. เป็นตัวช่วยให้เกษตรกรมี “ไม้” ไว้ใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น เป็นไม้ฟืน ไม้ค้ำยัน ไม้สร้างบ้าน โดยไม่ต้องเสียเงินไปหาซื้อ
  3. ต้นไม้ใหญ่รีไซเคิลธาตุอาหารได้มาก จากการดูดซับสารอาหารจากสภาพแวดล้อม แปรสภาพเป็นลำต้น กิ่งก้าน และใบไม้ที่ร่วงหล่น ซึ่งที่สุดก็สลายคืนสู่ดินกลายเป็นปุ๋ยชีวภาพ
  4. ระบบนิเวศน์ไม้ใหญ่ดึงดูดสัตว์เล็กนกกาเข้ามาอยู่อาศัย เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศน์ ลดการใช้ปู๋ย ยาฆ่าแมลงหรือยากำจัดศัตรู
  5. ไม้ใหญ่ช่วยกำบังลม และแสงแดด ลดการเกิดของวัชพืช

เงื่อนไขพื้นฐานของการเลือกพันธ์ไม้ยืนต้นในระบบวนเกษตร

  • ควรเลือกพันธ์ไม้ที่ไม่ต้องการน้ำมากเกินไป จนแย่งน้ำของพืชตัวหลัก
  • ควรเลือกพันธ์ไม้ที่มีระบบรากไชลึก เพื่อจะได้ชอนไชลงหานำ้จากแกล่งใต้ดินชั้นลึก
  • ควรเลือกพันธ์ไม้ที่กิ่งก้านแผ่ขยายและแตกใบค่อนข้างโปร่ง เพื่อให้แสงแดดสามารถส่องลงไปสู่ไม้ชั้นล่างได้
  • ควรเลือกพันธ์ไม้โตเร็ว โดยเฉพาะพันธ์ไม้ใช้สอย เพื่อให้ช่วงที่ปลูกโตจนพร้อมใช้ และลงปลูกใหม่ ใช้เวลาไม่นานนกั
  • ควรเลือกพันธ์ไม้ไม่”แย่ง”ธาตุอาหารจากพืชหลัก แต่เพิ่มเติมธาตุอาหารให้ผืนดิน เช่น พืชตระกูลถั่ว ที่มีใบย่อยสลายง่าย มีธาตุไนโตรเจนสูง ฟื้นสภาพดินได้รวดเร็ว

วนเกษตร มีทางเลือกในการปฏิบัติทางการเกษตรแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น และสภาพพื้นที่ โดยนักวิชาการได้จัดแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 5 ประเภท ดังนี้

  1. วนเกษตรแบบบ้านสวน การปลูกไม้ป่าผสมในลักษณะนี้ จะมีต้นไม้และพืชผลหลายชั้นความสูง โดยเน้นปลูกไม้ผล ที่ให้ผลประเภทกินได้ และไม้สำหรับใช้สอยในครัวเรือน เพื่อเป็นไม้ฟืนและถ่าน และพืชสมุนไพรและผักสวนครัว วนเกษรประเภทนี้ เหมาะกับเกษตรกรที่มีพื้นที่ในการปลูกไม่มาก เช่น พื้นที่สวนหลังบ้าน
  2. วนเกษตรที่มีต้นไม้แทรกในไร่นา หรือทุ่งหญ้า เหมาะกับพื้นที่ซึ่งมีลักษณะสูงๆ ต่ำๆ โดยปลูกต้นไม้เสริมในที่ที่ไม่เหมาะสมกับพืชผล เช่น ที่เนิน หรือที่ลุ่มน้ำขัง และปลูกพืชในที่ราบ หรือที่ไม่สม่ำเสมอ
  3. วนเกษตรที่มีต้นไม้ล้อมนาไร่ การปลูกต้นไม้ล้อมพื้นที่นาข้าว และที่ราบลุ่มปลูกพืชไร่ ที่ซึ่งมีลมแรง และพืชผลมีโอกาศได้รับความเสียหายจากลมพายุอยู่เสมอ การปลูกต้นไม้โตเร็วยืนต้นรอบคันนา ยังเพิ่มความชุ่มชื้น บังแดดบังลมให้กับนาข้าวด้วย ผลผลิตไม้ก็สามารถนำมาใช้สอยในครัวเรือน เป็นถ่านเป็นฟืน
  4. วนเกษตรที่มีแถบต้นไม้และพืชผลสลับกัน เหมาะกับพื้นที่ที่มีความลาดชันเป็นแนวยาวน้ำไหลเซาะหน้าดินมาก แถบต้นไม้ซึ่งปลูกไว้สองถึงสามแถวสลับกับพืชผลเป็นช่วงๆ ปลูกขวางความลาดชัน จะช่วยรักษาหน้าดิน และในระยะยาวจะทำให้เกิดขั้นบันไดดินแบบธรรมชาติให้กับพื้นที่ สำหรับแถบพืช อาจมีความกว้าง 5-20 เมตร ตามความเหมาะสมของพื้นที่
  5. วนเกษตรที่ใช้พื้นที่หมุนเวียนปลูกไม้ยืนต้น พืชผล และเลี้ยงสัตว์ เหมาะกับพื้นที่ที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่พอที่จะปลูกพืชผลเป็นแปลงหมุนเวียน โดยมีแปลงไม้ยืนต้นร่วมกับการเลี้ยงสัตว์แบบหมุนเวียนเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนดิน

วนเกษตร นอกจากจะเป็นแนวทางในการทำเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างยั่งยืน ตามนิยามข้างต้นแล้ว วนเกษตร ยังรวมถึงทำป่าไม้ผสมผสานร่วมกับการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ในบริเวณชายขอบระหว่าที่ดินเกษตรกร และรอยต่อที่ดินติดกับป่าด้วย หรืออาจเป็นการปลูกพืชเกษตร หรือการปลูกพืชเกษตรร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ในสวนป่า โดยเฉพาะที่กระทำโดยราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายขอบป่า ในเขตอ่อนไหว ซึ่งอาจเป็นทางออกที่ประณีประนอมสำหรับการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างความต้องการที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมและความต้องการรักษาป่าไม้เพื่อควบคุมสภาพสิ่งแวดล้อม ทำให้วิถีของคนและป่าสามารถดำเนินควบคู่กัน ไปโดยคำนึงถึงสภาพทางสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรที่เกี่ยวข้อง วนเกษตรอาจจะเป็นทางออกสุดท้ายของการเพิ่มปริมาณต้นไม้ของมนุษย์ ทดแทนการที่ป่าถูกทำลายจากการบริโภคและตัดไม้ทำลายป่า

ระบบวนเกษตร หรือไร่นาป่าผสม
Agro-Forestry System | ที่มาภาพ : Forestrypedia.com

แหล่งอ้างอิงข้อมูลและรูปภาพ:
https://tunza.eco-generation.org/m/index.jsp
https://www.opsmoac.go.th/km-km_org_center-files-401591791808
https://www.matichon.co.th/sme/news_95430
https://www.naewna.com/local/400766
http://www.nawachione.org/2012/10/29/sustainable-agriculture/
http://ecoursesonline.iasri.res.in/mod/page/view.php?id=14511
https://forestrypedia.com/agroforestry-system-detailed-note/
https://en.wikipedia.org/wiki/Agroforestry


`**ร่วมแบ่งปันสาระธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม🌳 โดย 〜
🌐 : https://bio100.co.th
ʟɪɴᴇ 🆔 : https://bit.ly/bio100qr
IG : instagram.com/bio100plus
𝕗𝕒𝕔𝕖𝕓𝕠𝕠𝕜: @Bio100Percent

Please follow and like us:
error
fb-share-icon